ประเด็นร้อน

ปั๊ม '22' ฉบับ ก.ม.ปราบโกงลุ้นอนาคต

โดย ACT โพสเมื่อ May 08,2017

 การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เป็นโจทย์และนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ดำเนินการมาเป็นระยะอยู่แล้ว และต่อไปนี้ก็ยังเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งปฏิรูปและวางระบบป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ให้รัฐบาลต้องดำเนินการจัดทำกฎหมายใหม่ รวมถึงปฏิรูปกฎหมายเดิมที่มีอยู่หลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งนับวันยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้นเป็นลำดับ ต้านโกงด้วยพลังประชาชน

ต่อเรื่องนี้ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) หรือ ACT สะท้อนมุมมองว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยกรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็น "รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง" เป็นวิถีทางใหม่ในการต่อต้านคอร์รัปชันโดยใช้พลังของประชาชน
          
หากไปดูในรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะพบว่า ได้กำหนดให้มีการเขียนกฎหมาย หรือปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่แล้วให้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญมากของประเทศเอาไว้ในหลายมาตรา และขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการให้มีกฎหมายลูกอย่างน้อย 22 ฉบับ และมาตรการอื่นที่มิใช่กฎหมายอีก 8 เรื่อง ที่จะบ่งบอกอนาคตได้ว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศจะสำเร็จหรือล้มเหลว
          
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาจัดทำใหม่หรือปฏิรูปกฎหมายสำคัญๆ 6-7 ฉบับที่ถูกจับตามองจากสังคมไทยอย่างมากว่า จะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร อาทิ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต, กฎหมายรณรงค์ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ, กฎหมายปฏิรูปตำรวจ และการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิของประชาชนและชุมชนในการติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมถึงฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติตามหน้าที่ของรัฐ หรือ ร่าง พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชน พ.ศ. .
          
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับการให้สิทธิของบุคคลและชุมชนในการรับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานรัฐ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานรัฐให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม รวมถึงการปรับปรุงระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัว เปิดเผย ตรวจสอบได้ และมีกลไกป้องกันการทุจริตในทุกขั้นตอน เป็นต้น
          
แนะดึงสังคมชงปราบโกง
          
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าจะมีกฎหมายอยู่หลายฉบับที่เพิ่มอำนาจให้ประชาชนเจ้าของประเทศ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบการใช้เงินและการใช้อำนาจรัฐ แต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับยังไม่ทราบว่า รัฐบาลกำลังผลักดันขับเคลื่อนกฎหมายต่างๆ เหล่านี้อยู่อย่างขะมักเขม้น
          
รัฐบาลควรสร้างความชัดเจนเสียแต่วันนี้ว่า แต่ละเรื่อง แต่ละมาตรการนั้นมีไว้เพื่ออะไร แนวทางเป็นอย่างไร ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร และในกระบวนการจัดทำรายละเอียดนั้นจะยึดโยงหรือสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆได้อย่างไร โดยเฉพาะนักวิชาการและบุคคลผู้มีประสบการณ์ในการต่อสู้กับคอร์รัปชัน ทั้งภาครัฐและประชาชนช่วยกันเสนอข้อคิดเห็น และมาตรการที่ควรกำหนดไว้ในกฎหมายอย่างหลากหลายและรอบด้าน เปิดกว้างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะให้มั่นใจได้ว่า เมื่อออกเป็นกฎหมายแล้วจะสามารถใช้งานได้จริง และเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างเต็มที่ จะไม่เกิดปัญหาตามมา
          
ยกตัวอย่างเช่น มาตรการให้คาดเข็มขัดนิรภัย และห้ามนั่งท้ายกระบะ ทันทีที่มีมาตรการออกมาได้เกิดความสับสนขึ้นกับประชาชน เนื่องจากตั้งตัวไม่ทัน ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยไม่แน่ใจว่า ออกมาเพื่อความปลอดภัยโดยรวม หรือเพื่อต้องการแก้ปัญหาลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุในช่วงวันสงกรานต์ ดังนั้นการออกกฎหมายหรือมาตรการที่มีผลกระทบโดยขาดการศึกษา อย่างรอบด้าน จะบังคับใช้ไม่ได้ ดังเช่น กรณีห้ามนั่งท้ายรถกระบะวันสงกรานต์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เมื่อบังคับใช้ไม่ได้ก็จะต้องประนีประนอม ชะลอการใช้ออกไป
          
ซ้ำร้ายเมื่อขาดความชัดเจน อาจกลายเป็นช่องทางให้เกิดการเรียกรับสินบน เป็นช่องทางให้เกิดการคอร์รัปชันได้ เพราะกฎหมายบ้านเราจำนวนมากให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะเลือกบังคับใช้ ดังนั้น กฎหมายที่ไม่ชัดเจนและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง นอกจากจะเป็นกฎหมายที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้แล้วยังเป็นโอกาสให้เกิดการโกงได้ด้วย
          
"วันนี้ยังทันถ้ารัฐบาลจะดึงประชาชนมาร่วมรับรู้และมีส่วนร่วมในการจัดทำกฎหมายเหล่านี้เพื่อสร้างการยอมรับและความร่วมมือในอนาคต" นายมานะ ระบุ จับตาปฏิรูปตร.-การศึกษา
          
ขณะเดียวกันเมื่อมีกฎหมายออกมาแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องมีวิธีการดำเนินการให้สามารถบังคับใช้ได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กันไปด้วย โดยยกกรณีศึกษาที่สะท้อนถึงเรื่องนี้ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
          
นั่นก็คือ กฎหมายอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ซึ่งมีผลบังคับใช้มาปีกว่าแล้ว แต่ประชาชนรับรู้รับทราบกันในวงจำกัด มีแต่นักธุรกิจผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้นที่ทราบ ส่วนพ่อค้าแม่ค้ารายเล็กรายน้อย ไม่เคยไปใช้สิทธิของตัวเอง เพราะไม่ทราบมาก่อน จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของหน่วยงานต่างๆที่ต้องไปดำเนินการให้ภาคประชาชนตื่นตัว ลุกขึ้นมาใช้สิทธิของตัวเองด้วย
          
สำหรับการขับเคลื่อนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันข้างต้นนั้น เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศ ไทย) เชื่อมั่นว่า หากรัฐบาลสามารถผลักดันให้เดินหน้าได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดจะส่งผลดี ทั้งในแง่ของการป้องกันและการปราบปราม เนื่องจากกฎหมายบางฉบับมุ่งแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง อาทิ การปฏิรูประบบตำรวจ และการปฏิรูประบบการศึกษา ที่สังคมจับจ้องเรียกร้องอยากให้เกิดขึ้นในเร็ววัน
          
ทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับสังคมไทยได้ว่า จะสามารถเอาชนะการทุจริตคอร์รัปชันได้
          
8 มาตรการเสริมต้านทุจริต
          
ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 นอกจากจะกำหนดให้ต้องตรากฎหมายใหม่เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตแล้ว ยังมีอีกหลายมาตรการเกี่ยวเนื่องที่ต้องดำเนินการโดยวิธีอื่นนอกจากการออกฎหมายรวมแล้ว 8 รายการ ประกอบด้วย มาตร การเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและอำนาจในการฟ้องร้องรัฐ, มาตรการควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ, มาตรการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติหลังจากการออกกฎหมายแล้ว
          
รวมถึงมีมาตรการพัฒนาระบบราชการและการใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย, กำหนดมาตรฐานทางคุณธรรมจริยธรรมบุคคลของหน่วยงานของรัฐ, การจัดให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น/การรับฟังความคิดเห็น ประเมินผลสัมฤทธิ์ ลดระบบกรรมการและลดระบบการอนุญาตที่ไม่จำเป็น, การส่งเสริมความเข้าใจและการมีส่วนร่วม และการดำเนินการให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับองค์กรอิสระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.)

- - สำนักข่าว ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 8 พฤษภาคม 2560 - -